สายตายาว คือ ภาวะกำลังหักเหแสงของตาผิดปกติ โดยผู้ที่มีสายตายาวจะมีลูกตาเล็กหรือกระจกตาแบนเกินไป ทำให้ไม่สามารถมองเห็นวัตถุในระยะใกล้ได้ชัดเจน แต่มองเห็นวัตถุในระยะไกลได้ชัดเจน หรืออาจเห็นไม่ชัดทั้งระยะใกล้และระยะไกล ซึ่งสายตายาวในทางการแพทย์หมายถึง อาการสายตายาวที่เกิดตั้งแต่อายุยังน้อยยังไม่ถึงวัยสูงอายุ และสายตายาวที่เกิดขึ้นเมื่อถึงวัยสูงอายุ (อายุ 40 ปีขึ้นไป) เรียกว่า สายตายาวตามอายุ

อาการสายตายาว
- การมองเห็นวัตถุในระยะใกล้ได้ไม่ชัด เช่น อ่านหนังสือ
- มีเกิดอาการไม่สบายตาหรือปวดศีรษะจากการที่ต้องใช้สายตาเป็นเวลานาน เนื่องจากกล้ามเนื้อตาทำงานหนักเกินไปจากการโฟกัส มักจะปวดบริเวณหน้าผาก และจะมีอาการมากขึ้นเมื่อใช้สายตามากขึ้น
- มีอาการแสบตา ตาสู้แสงไม่ได้
- ต้องหรี่ตาเพื่อให้ได้การมองเห็นที่ชัดเจน
- มองเห็นภาพไม่ชัด โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
- มีอาการปวดตาหรือบริเวณรอบดวงตา
- บางท่านที่มีสายตายาวอยู่ก่อนแล้วอาจจะเกิดภาวะสายตาสูงอายุเร็วขึ้น โดยในระยะแรกการมองใกล้ไม่ชัดมักเกิดเมื่อร่างกายอ่อนล้าหรือเมื่อแสงไม่พอ

เนื่องจากสายตายาวไม่สามารถป้องกันได้ แต่มีวิธีที่จะช่วยปกป้องดวงตาและการมองเห็นของตนเองได้ ดังนี้
- ตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำ เพื่อตรวจสอบความสามารถในการมองเห็นหรือตรวจสอบว่ามีความผิดปกติใดเกิดขึ้นกับดวงตาหรือไม่
- เลือกแว่นตาที่่เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งจะช่วยส่งผลให้การมองเห็นเป็นไปอย่างเหมาะสม
- หมั่นสังเกตตัวเองว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตาหรือไม่
- ปกป้องดวงตาจากแสงอาทิตย์หรือรังสีอัลตร้าไวโอเลต ด้วยการใส่แว่นตากันแดด
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะรับประทานผักใบเขียวและผลไม้ที่มีสีอ่อน
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะส่งผลร้ายต่อสุขภาพของดวงตาได้
- หากต้องใช้สายตาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น อ่านหนังสือ หรือเขียนหนังสือ ควรเปิดไฟและใช้ไฟที่เหมาะสม